ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับความนิยมมากขึ้น คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้กำหนดมาตรฐานของฉลากกำกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียดของฉลากมีรายละเอียดพอสมควร แต่จะขอสรุปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 293, 309, 405 และ 411 ได้ดังนี้
- ชื่ออาหาร มีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร
- เลขสารบบอาหาร
- ชื่อและที่ตั้งสถานที่ผลิต/แบ่งบรรจุ/นำเข้า
- ข้อความว่า “ผู้ผลิต” หรือ “ผลิตโดย” กรณีเป็นผู้ผลิต หรือแสดงชื่อและที่ตั้งสำนักงานใหญ่โดยมีข้อความ “สำนักงานใหญ่”
- ข้อความว่า “ผู้แบ่งบรรจุ” หรือ “แบ่งบรรจุโดย” กรณีเป็นผู้แบ่งบรรจุ
- ข้อความว่า “ผู้นำเข้า” หรือ “นำเข้าโดย” และแสดงชื่อและประเทศของผู้ผลิตด้วย
- ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญ และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ในฉลากโดยให้แสดงเรียงลำดับปริมาณจากมากไปน้อย
- หน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือ INS
- ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลินเลียนแบบธรรมชาติ” “แต่งกลินสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนแบบธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้
- ปริมาณที่บรรจุ
- รูปแบบเม็ดหรือแคปซูลให้แสดงจำนวนบรรจุ
- ของเหลว ให้แสดงปริมาตรสุทธิ
- ของแข็งหรืออื่น ๆ ให้แสดงน้ำหนักสุทธิ
- วันเดือนปี “ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ”
- ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร (ถ้ามี) ข้อความว่า “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : มี…………” หรืออาจมี “……………………..”
- ข้อแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)
- ถ้ามีวัตถุที่ใช้เพื่อรักษาคุณภาพหรือมาตรฐานในภาชนะแยกแต่รวมอยู่ในภาชนะอาหาร ข้อความว่า “มี…….” ด้วยตัวอักษรสีแดง ขนาด > 3 มม. บนพื้นสีขาว
ข้อความหรือคำเตือนที่ต้องแสดง
- “คำเตือน” ด้วยตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า 1.5 มม. ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก
- “เด็กและสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทาน” ด้วยอักษรที่มีขนาดเห็นได้ชัด
- “ควรเกินอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ” ด้วยตัวอักษรที่มีขนาดเห็นได้ชัดเจน
- “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค” ด้วยตัวอักษรหนาทึบในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีของฃกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก
หากมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้ ให้แสดงคำเตือนเพิ่มเติมตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 405) พ.ศ.2562
- กระดูกอ่อนปลาฉลาม
- เกสรดอกไม้
- ไคโตซาน
- น้ำมันปลา
- น้ำมันอิฟนิงพริมโรส
- ใยอาหาร
- รอยัลเยลลี
- เลซิติน
- ขิง
- สารสกัดขมิ้นชัน
- น้ำตาลแอลกอฮอล์
- อะซีซัลเฟม เค
- แอสพาร์เทม
- สารสกัดเนื้อในของเมล็ดมะม่วงแอฟริกัน
- สารสกัดจากรากของ Cistanche tubulosa
- Red yeast tire
- วิตามินเค 2 ในรูปของมีนาควิโนน-7
- เมล็ดเชีย
- ไฟโตสเตอรอล ไฟโตสตานอล หรือเอสเทอร์ของไฟโตสเตอรอลหรือสตานอล
- ผงรากเบอร์ดอก หรือโกโบ
- ใบผักเชียงดาอบแห้ง
- รากและเหง้าของพืช Angelica gigas Nakai, Cnidium officinale MAKINO และ Paeonia japonica Miyabe
ข้อมูลอ้างอิงจากเอกสารประชาสัมพันธ์คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)